7 ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์

ในร่างกายของคนเรายังมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ และยังมีอีกหลายอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นอาการหรือพฤติกรรมที่เราเคยชิน แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่? และนี่คือ 7 ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ ที่ไม่มีสอนกันในห้องเรียน

#1 สภาพแวดล้อมทำให้ร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?

ตามธรรมชาติโดยทั่วไปแล้วสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย มักจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม หรือถิ่นฐานที่ตัวเองอาศัยอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นชนเผ่าอินเดียนแดง ที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง พวกเขามักจะมีปอดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อหายใจรับอากาศให้ได้มากขึ้น มีเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าคนที่อยู่ในที่ต่ำถึง 2 ลิตร และหัวใจก็มีขนาดใหญ่กว่าคนปกติถึง 1.5 เท่า เพื่อทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้ได้มากขึ้น แขนและขาสั้น มือและเท้าเล็ก เพื่อลดการสัมผัสอากาศภายนอก เป็นการลดการทำงานหนักของหัวใจ ส่งผลให้การสูญเสียความร้อนของร่างกายลดน้อยลงไปด้วย จากเหตุผลนี้ จึงสรุปได้ว่าในบางครั้งสภาพแวดล้อมก็ทำให้ร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

#2 จมูกของเราดมกลิ่นได้อย่างไร?

ในจมูกของคนเรามีประสาทสัมผัสการดมกลิ่น ซึ่งจะทำให้เราสามารถได้กลิ่นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น การระเหยของแก๊สหุงต้ม เมื่อกลิ่นนี้มาสัมผัสกับจมูก จะสั่งกระแสประสาทไปสู่สมอง การได้กลิ่นก็จะเกิดขึ้น สมองของเรามีหน้าที่บันทึกกลิ่นต่างๆ และกลิ่นที่เราเคยดมมาแล้วสมองก็จะรับรู้ได้ แต่ถ้าจมูกสัมผัสกลิ่นใหม่ และดมซ้ำอีกครั้ง สมองก็จะสั่งการว่า กลิ่นนี้เราเคยรับรู้ หรือเคยสัมผัส เคยสูดดมแล้วนั่นเอง

#3 คนที่ตาบอดสีมีลักษณะอย่างไร?

คนที่ตาบอดสีคือคนที่มองเห็นเฉพาะสีเหลืองและสีน้ำเงินเท่านั้น และจะสับสนในสีเขียวกับสีแดง และจะมองเห็นทุกๆ อย่างเป็น สีดำ สีขาว และสีเทาในที่ร่ม พวกเขาไม่สามารถระบุสีต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และมักจะไม่รู้ตัวคือไม่ยอมรับว่าตัวเองตาบอดสีนั่นเอง

#4 ถ้าคนเราไม่มีเหงื่อจะเป็นอย่างไร?

ถ้าร่างกายของเราไม่มีเหงื่อออกมาเลย จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเหงื่อเป็นตัวถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายของเรา ซึ่งต่อมเหงื่อจะมีอยู่ทั่วร่างกายประมาณ 2,000,000 ต่อมด้วยกัน ซึ่งบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ และหน้าผากของคนเรา มักจะมีต่อมเหงื่อที่ใหญ่กว่าบริเวณอื่น เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกได้ว่า มีเหงื่อออกบริเวณนั้นมากกว่าจุดอื่นบนร่างกาย

#5 ทำไมเราจึงมีอาการคล้ายกับเห็นดาว เมื่อศีรษะโดนกระทบอย่างแรง?

สำหรับอาการที่คล้ายๆ กับว่า เราเห็นดาว เมื่อโดนตีหัวหรือศีรษะโดนกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เป็นเพราะเราอุปาทานไปว่าดาวมีแสงสว่างจ้า แต่อันที่จริงแล้วการโดนตีหัวแรงๆ หรือศีรษะของเราไปโขลกกับของแข็ง เป็นการกระตุ้นประสาทตาอย่างแรง แล้วแปลความเป็นได้รับแสงทันทีทันใดอย่างเจิดจ้า ก็เลยว่าอุปาทานไปว่าเห็นดาว เหตุผลก็คือประสาทตาเล่นตลกกับเรานั่นเอง

#6 ขณะจับของร้อนๆ ทำไมเรารีบปล่อยมือแบบอัตโนมัติไปเอง?

เมื่อเราจับของร้อนๆ โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้มาก่อน มือของเราจะปล่อยของสิ่งนั้นไปโดยอัตโนมัติในทันที ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ขณะที่เราจับของร้อนประสาทจากจุดสัมผัสจะส่งกระแสความรู้สึกไปยังไขสันหลัง บอกว่ามันร้อนมาก จากนั้นไขสันหลังก็จะสั่งงานให้ มือของเราปล่อยของสิ่งนั้นหรือให้รีบหดกลับในทันที

ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวนี้ เป็นการสั่งงานที่ไม่จำเป็นจะต้องส่งกระแสไปให้สมองสั่งการ และไม่ต้องคิดที่จะปล่อยมือจากมันทอดร้อนๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราเรียกว่า ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ซึ่งปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ว่านี้มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่นเมื่อมีคนฉายไฟเข้าตาตาก็หรี่หรือกระพริบทันที หรือเวลาที่เราเดินชนพุ่มไม้หนามที่แหลมคม ก็จะสะดุ้งและดีดตัวกลับทันทีเป็นต้น ซึ่งปฏิกิริยาสะท้อนกลับเช่นนี้ มักจะทำไปโดยที่สมองยังไม่ได้สั่งการล่วงหน้าว่า ต้องทำอย่างนี้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

#7 ร่างกายทำอะไรบ้าง ในยามที่เราหลับ?

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนของร่างกายจากการทำงานหรือการทำกิจกรรมที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน และในขณะที่เรากำลังนอนหลับอยู่นั้น อวัยวะบางอย่างก็ทำงานตามปกติ เช่น การหายใจ การสูบฉีดโลหิต และเซลล์ของร่างกายที่ชำรุดก็จะได้รับการซ่อมแซมให้ดีขึ้น และมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสมองของเราก็จะได้พักผ่อนไปด้วย คือการรับรู้จากประสาททั้ง 5 จะหยุดการทำงาน แต่ว่าสมองของเรายังคงตื่นตัวหรือรับรู้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้นั่นเอง