7 รายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทย ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่คนไทยเราไม่ค่อยได้ใส่ใจหรือสนใจกันเท่าไหร่ คงหนีไม่พ้นรายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทยที่คนไทยส่วนใหญ่ท่องเอาไปสอบ และลืมมันไปหลังจากวางปากกา วันนี้เรามาเตือนความจำตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่า 7 รายชื่อต่อไปนี้มีอะไร และเกี่ยวอะไรกับเรา คำว่าสัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าหายาก 7 ชนิด เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า หรือพยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ สำหรับสัตว์ป่าสงวนทั้ง 7 ชนิดนั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูกันเลย

#1 กระซู่

เป็นสัตว์ตระกูลแรดพันธุ์เล็กที่สุดในโลก มี 2 นอ ส่วนสูงที่ระดับไหล่ประมาณ 1.0 – 1.4 เมตร น้ำหนัก 900-1,000 กก. มีขนปกคลุมทั่วร่างกาย สามารถปีนป่ายที่ลาดชันได้ สภานภาพปัจจุบันเป็นสัตว์หายากมาก คาดว่ายังพบได้บริเวณป่าทึบตามแนวพรมแดนไทย-พม่า และชายแดนไทย-มาเลเซีย

#2 เลียงผา

เป็นสัตว์กีบคู่มีเขาจำพวกแพะ สูงประมาณ 85-94 ซ.ม.ที่ระดับหัวไหล่ หนักประมาณ 85-140 กก. อาศัยอยู่ตามภูเขาที่มีหน้าผาหรือถ้ำ สามารถเคลื่อนที่ในที่สูงชันอย่างว่องไวและปราดเปรียวมาก สามารถว่ายน้ำข้ามระหว่างเกาะกับแผ่นดินได้ มีอวัยวะรับสัมผัส ทั้งตา หู และจมูกที่ดี กินพืชที่ขึ้นอยู่ตามที่สูง ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเนื่องจาก ถูกล่าเพื่อเอาเขา เนื้อ และทำน้ำมันเลียงผา

#3 สมัน

กวางขนาดกลาง ความสูง 1 เมตร และขึ้นชื่อว่ามีเขาที่สวยงามสุดในโลก เมื่อโตเต็มวัยเขาของสมันจะแตกแขนงมีลักษณะคล้ายสุ่มที่หงายขึ้น อาศัยอยู่เฉพาะที่ราบต่ำในภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันสมันได้สูญพันธุ์จากประเทศไทยไปโดยสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2475 ด้วยการล่าของนักล่าสัตว์ชาวไทย

#4 นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกนางแอ่นชนิดหนึ่ง ขนาดวัดจากปลายจงอยปากถึงโคนหางยาวประมาณ 15 ซม. พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2511 บริเวณบึงบรเพ็ด จ.นครสวรรค์ และเป็นเพียงแห่งเดียวในโลกที่พบนกชนิดนี้ พวกมันชอบเกาะนอนในพงหญ้า นอนอยู่รวมกับฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ตามใบอ้อ และใบสนุ่น โฉบจับแมลงเป็นอาหาร ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเพราะการทำหลายแหล่งที่อยู่อาศัย

#5 กูปรี

สัตว์ตระกูลเดียวกับกระทิงและวัวแดง ความสูงที่ระดับไหล่ 1.7-1.9 เมตร น้ำหนักประมาณ 700-900 กก. อยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 2-20 ตัว มีลักษณะพิเศษคือ ตัวผู้ที่โตเต็มที่มักจะมีปลายเขาที่แตกเป็นพู่ เนื่องจากมันชอบใช้เขาแทงดินเพื่องัดหาอาหารกิน พบในไทย ลาว เขมร และเวียดนามเท่านั้น และยังคงถูกล่าเพื่อเอาเขาซึ่งมีราคาสูงอยู่เสมอ จึงทำให้มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในอนาคต

#6 นกกระเรียน

นกบินที่ได้ขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย สูงประมาณ 150 ซม. พบตามหนอง บึง และท้องทุ่ง หากินเป็นคู่และกลุ่มครอบครัว จับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว กินแมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ เมล็ดพืช และต้นอ่อนของพืชน้ำ ปัจจุบันไม่พบในประเทศไทยอีกเช่นกัน เพราะถูกล่าอย่างหนัก และแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย แต่สามารถพบได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเขมร

#7 นกแต้วแล้วท้องดำ

นกขนาดกลางลำตัวยาวประมาณ 21 ซม. อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบที่ราบต่ำ ชอบทำรังบนกอระกำ และกอหวาย ซึ่งมีหนามแหลม ชอบกินไส้เดือน ส่งเสียกร้อง วัก วัก เพื่อประกาศอาณาเขตและร้องหาคู่ ส่งเสียงร้อง แต้ว แต้ว ขณะตกใจ ปัจจุบันพบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ แต่คาดว่าเหลืออยู่ไม่เกิน 100 ตัว และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้าเนื่องจาก ถิ่นที่อยู่กำลังถูกบุกรุกอย่างรุนแรง