รายงานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology เผยผลการศึกษาแมลงดึกดำบรรพ์ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสเมื่อราวร้อยล้านปีก่อน นั่นคือซากฟอสซิลของ “มดยมโลก” (Hell Ant) ที่กำลังงับเหยื่อค้างอยู่ในก้อนอำพันเก่าแก่เกือบ 100 ล้านปี
ก้อนอำพันดึกดำบรรพ์ถูกพบในปี 2017 ที่รัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา โดยภายในก้อนอำพันคือซากฟอสซิลของมดที่มี “ขากรรไกรแนวตั้งขนาดใหญ่” และโค้งงอเหมือนเคียวยมทูต ทั้งยังอยู่ในท่วงท่าขณะกำลังงับบรรพบุรุษของแมลงสาบเอาไว้
แมลงโบราณทั้งสองชนิดต่างสูญพันธุ์ไปแล้วทั้งคู่ แต่ซากที่เหลืออยู่ในก้อนอำพันหายากชิ้นนี้ เป็นหลักฐานที่ชี้ถึงขั้นตอนสำคัญทางวิวัฒนาการที่ส่งผลทั้งต่อความอยู่รอดและดับสูญของเผ่าพันธุ์
ดร. ฟิลิป บาร์เดน ผู้นำทีมนักบรรพชีวินวิทยา จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเจอร์ซีย์ (NJIT) ของสหรัฐฯ ระบุว่าฟอสซิลดังกล่าวคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรก ซึ่งยืนยันว่า…
“มดยมโลก” (Hell Ant) หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Haidomyrmecine เป็นมดชนิดเดียวที่มีขากรรไกรล่างซึ่งวางตัวและเคลื่อนไหวขึ้นลงในแนวตั้ง ต่างจากบรรดามดในปัจจุบันที่มีขากรรไกรในแนวขวาง และขยับไปมาทางด้านข้าง
ซากของมดยมโลกที่อยู่ในก้อนอำพันดังกล่าว ใช้ขากรรไกรล่างที่เหมือนกับเคียวขนาดใหญ่ตรึงเหยื่อให้ติดอยู่กับเขายาวที่หน้าผาก ทำให้สามารถยึดจับและสังหารเหยื่อได้ง่าย
ดร. บาร์เดน ชี้ว่า การมีขากรรไกรแนวตั้งที่แปลกประหลาด เป็นเสมือนการทดลองทางวิวัฒนาการ ที่จะพิสูจน์ว่าการล่าเหยื่อได้ง่ายขึ้นโดยแลกกับการมีขากรรไกรแนวตั้งขนาดใหญ่นี้คุ้มค่าหรือไม่
ซึ่งผลปรากฎว่าอวัยวะที่ไม่เหมือนใครนี้จำกัดการเคลื่อนไหวส่วนหัวของมันมากเกินไป และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องสูญพันธุ์ โดยในปัจจุบันไม่มีมดชนิดใดเดินตามรอยวิวัฒนาการนี้เลย
ดร. บาร์เดน กล่าวว่า “99% ของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่เคยอยู่บนโลกได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และเราก็กำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์ระดับมหึมาครั้งที่ 6 เข้าไปทุกขณะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติ และลักษณะของการสูญพันธุ์ในหลายๆ รูปแบบ เพื่อให้ทราบว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยตัดสินให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดหรือสูญสิ้น”
เครดิต BBC