ทีมนักโบราณคดีของอียิปต์และเยอรมนี ค้นพบจารึกโบราณอายุเก่าแก่ราว 2,000 ปี สลักอยู่บนเพดานของวิหารแห่งเอสนา (Temple of Esna)
ข้อความในจารึกได้กล่าวถึงชื่อกลุ่มดาวบนท้องฟ้า ซึ่งนักดาราศาสตร์ยุคใหม่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
มีการค้นพบจารึกที่เป็นอักษรอียิปต์โบราณ ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวิหารแห่งเอสนาครั้งล่าสุด โดยโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลักซอร์ไปทางตอนใต้ราว 60 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณคดีของอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้ทำการบูรณะวิหาร ค่อยๆ ใช้น้ำกลั่นผสมแอลกอฮอล์เช็ดคราบเขม่าควันและสิ่งสกปรกที่จับแน่นตามเสาและผนังทุกด้าน จนทำให้เห็นจารึกตัวอักษรและรูปสลัก
หลังการทำความสะอาดเพดาน ซึ่งสร้างขึ้นเป็นแผนที่ทางดาราศาสตร์โดยเลียนแบบท้องฟ้ายามราตรี ทีมผู้วิจัยพบว่าชาวอียิปต์โบราณใช้หมึกเขียนจารึกอักษรภาพที่สื่อความหมายถึงกลุ่มดาวต่างๆ เอาไว้
(จารึกนี้สลักภาพมัมมี่และสัญลักษณ์ดาวห้าแฉก 7 ดวง เพื่อสื่อความหมายถึงกลุ่มดาวหนึ่งบนท้องฟ้า)
ชื่อของกลุ่มดาวบางส่วนบนจารึกวิหารแห่งเอสนากล่าวถึง เป็นกลุ่มดาวที่คนยุคใหม่รู้จักกันดี เช่น กลุ่มดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ของชาวกรีก
(จารึกที่สื่อความหมายถึงกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) หรือหมีใหญ่ของชาวกรีก ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวจระเข้)
อย่างไรก็ตาม มีชื่อของกลุ่มดาวจำนวนหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของกลุ่มดาวที่มีการบันทึกไว้แล้วหรือไม่ เช่นกลุ่มดาว “อะเพดู เอ็น รา” (Apedu n Ra) หรือ “ฝูงห่านของสุริยเทพ” ซึ่งยังไม่สามารถเทียบเคียงกับกลุ่มดาวใดๆ ในระบบดาราศาสตร์ยุคปัจจุบันได้เลย
ศาสตราจารย์ คริสเตียน ไลท์ซ จากมหาวิทยาลัยทูบิงเงนของเยอรมนี ผู้นำทีมวิจัยทางโบราณคดีในครั้งนี้บอกว่า “หากไม่มีภาพของกลุ่มดาวตามลักษณะการจัดเรียงตัวบนท้องฟ้าเขียนประกอบเอาไว้ด้วย ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะทราบได้ว่า มันคือกลุ่มดาวที่มีอยู่จริงหรือไม่”
ชาวอียิปต์โบราณนั้นมีความก้าวหน้าในวิทยาการด้านดาราศาสตร์อย่างมาก โดยสันนิษฐานว่าเป็นผู้ริเริ่มการจัดระบบกลุ่มดาวจักรราศี สามารถสร้างพีระมิดและวิหารต่างๆ ให้สอดคล้องกับตำแหน่งของดาวเหนือ รวมทั้งตรงกับแนวการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในช่วงสำคัญของฤดูกาลต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่บรรดานักวิทยาศาสตร์จะติดตามศึกษา เพื่อไขความกระจ่างเรื่องกลุ่มดาวปริศนาจากจารึกอียิปต์โบราณนี้ต่อไป
เครดิต BBC