พบฟอสซิล “ฉลามมีปีก” อายุ 93 ล้านปี ทำให้รู้ว่า “ยุคไดโนเสาร์” มีฉลามที่บินร่อนในทะเล

ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติจากฝรั่งเศส เยอรมนี และเม็กซิโก เผยผลวิเคราะห์ซากฟอสซิลของ “ฉลามมีปีก” อายุเก่าแก่ 93 ล้านปี ในวารสาร Science

โดยชี้ว่าฟอสซิลที่พบเป็นฉลามรูปร่างประหลาดไร้กระโดงหรือครีบหลัง แต่กลับมีครีบด้านข้างลำตัวที่ยาว และกว้างคล้ายปีกเครื่องบิน สามารถใช้ร่อนเหมือนกับบินในน้ำทะเลเช่นเดียวกับกระเบนราหู

ฉลามโบราณที่ว่านี้ชื่อว่า Aquilolamna Milarcae มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสที่ไดโนเสาร์ครองโลก ก่อนที่กระเบนราหูซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของฉลามจะถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบล้านปี

(ภาพจำลอง “ฉลามมีปีก” ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์)

“ฉลามมีปีก” ชนิดนี้เป็นฉลามที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเหมือนกับฉลามวาฬ อาศัยอยู่ในบริเวณ Western Interior Seaway ซึ่งเป็นช่องที่น้ำทะเลไหลเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นทางน้ำเชื่อมต่ออ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรอาร์กติกในยุคโบราณ

(ฟอสซิลเก่าแก่อายุ 93 ล้านปี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศเม็กซิโก)

มีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อปี 2012 ในเหมืองหินทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก โดยพบว่าครีบด้านข้างที่คล้ายปีกนกนั้น เมื่อกางออกเต็มที่จะมีความยาวจากปลายข้างหนึ่งไปจรดอีกข้างหนึ่งเกือบ 2 เมตร ในขณะที่ลำตัวมีความยาว 1.65 เมตร ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีความกว้างของลำตัวมากกว่าความยาว นอกจากนี้มันยังมีส่วนหัวสั้น จมูกสั้น แต่มีปากกว้างอีกด้วย

เครดิต BBC