9 อาหารไทยที่ตั้งชื่อ “ไม่ตรง” กับความจริง ทำไมเป็นแบบนั้น? วันนี้มีคำตอบ

เชื่อว่าหลายๆ คนคงสงสัยว่าทำไมอาหารไทยของเรานั้นถึงมีตั้งชื่อไม่ตรงกับที่มา เช่น ทำไมซีอิ๊วขาวถึงมีสีดำ? ขนมโตเกียวมาจากญี่ปุ่นอย่างนั้นหรือ? หรือขนมจีนเป็นของจีนใช่ไหม? ถ้าคุณเคยสงสัยเกี่ยวกับชื่ออาหารทั้งหลายมาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะก็ วันนี้เราจะพาทุกคนมาพบกับคำตอบกัน

#1 ซีอิ๊วขาว ทำไมสีดำ

ตามปกติของการหมักถั่วเหลือง น้ำซีอิ๊วที่ได้จะเป็นสีดำ แต่น้ำซีอิ๊วขาวจะมีความใสกว่าซีอิ๊วดำ และเวลาเหยาะใส่อาหารต่างๆ จะไม่ค่อยทำให้อาหารเปลี่ยนสีไปมากนัก ต่างจากซีอิ๊วดำที่ใส่ไปแล้วจะเป็นสีดำทันที และนั่นคือสาเหตุของชื่อซีอิ๊วขาว

#2 ขนมจีน ไม่ใช่ขนม และก็ไม่ใช่ของประเทศจีน

แล้วทำไมมันถึงกลายเป็นขนมจีนไปได้ ข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ ขนมจีน น่าจะมาจากภาษามอญ โดยคนมอญเรียกขนมจีนว่า คนอมจิน เพราะขนมจีนถือเป็นอาหารของคนมอญ

คำว่า คนอม แปลว่าจับเป็นกลุ่มก้อน ก่อตัว สร้าง ส่วนจิน แปลว่า ทำให้สุก 2 ครั้ง คือเส้นที่ทำจากแป้งที่ทำให้สุก 2 หน (สุกครั้งที่ 1 ตอนต้มแป้ง สุกครั้งที่ 2 ตอนโรยเส้นในน้ำเดือด)

#3 ขนมโตเกียว ไม่มีขายในโตเกียว

เชื่อว่าตอนเด็กๆ หลายคนต้องเชื่อว่ามันเป็นขนมของญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย ข้อสันนิษฐานคือ ขนมโตเกียวน่าจะมีรากฐานมาจากขนมดั้งเดิมในญี่ปุ่น และเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในไทย กลายเป็นว่าได้มีการดัดแปลงไปเรื่อยๆ และมีการตั้งชื่อว่า ขนมโตเกียว ให้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นนั่นเอง (ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นไม่มีขนมโตเกียวขาย)

#4 ข้าวซอย ไม่ใช่ข้าว

มี 2 ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อข้าวซอย ข้อแรกคือมาจากกรรมวิธีในการทำเส้น ด้วยการนำแป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันและนวดจนเข้ากันดี แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น จากนั้นก็เอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้นๆ เหมือนเอาข้าว (แป้ง) มาซอยจนกลายเป็นข้าวซอย

ส่วนอีกข้อคือข้าวซอยเป็นอาหารของชาวเมียนมาร์ที่เรียกว่า เค่าซแว และถูกเรียกเพี้ยนกันมาจนเป็น ข้าวซอย ในที่สุด

#5 ส้มตำ แต่ไม่ได้เอาส้มมาตำ ทำไมเป็นมะละกอ

ส้มตำถือเป็นอาหารยอดฮิตที่เติบโตมาจากทางภาคอีสาน ซึ่งคำว่า ส้ม เป็นภาษาถิ่นที่หมายถึงรสเปรี้ยว ส่วน ตำ ก็คือการตำแบบที่เราเข้าใจ ดังนั้นคำว่าส้มตำ จึงหมายถึง การตำอาหารรสเปรี้ยว

ซึ่งมะละกอดิบ ถือเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับในการหยิบมาตำให้มีรสเปรี้ยวนั่นเอง ส่วนอาหารชนิดอื่นที่เชื่อมโยงคำว่าส้มกับรสเปรี้ยวก็ได้แก่ แกงส้ม ปลาส้ม หมูส้ม และน้ำส้มสายชู

#6 ข้าวผัดอเมริกัน ไม่ใช่ของอเมริกา

ข้าวผัดอเมริกันถูกคิดค้นโดยคุณหญิง สุรีพันธ์ มณีวัต เจ้าของนามปากกา นิตยา นาฎยะสุนทร ตั้งแต่ที่เธอทำงานเป็นผู้จัดการภัตตาคารในสนามบินดอนเมือง โดยวันดังกล่าวได้มีสายการบินหนึ่งยกเลิกอาหารที่สั่งจองเอาไว้ ทำให้มีอาหารเช้าแบบอเมริกันที่ประกอบด้วย ไข่ดาว แฮม ไส้กรอก เหลือเป็นจำนวนมาก

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียของ คุณหญิงจึงได้นำอาหารเหล่านั้นมาประกอบกับข้าวผัดที่เตรียมไว้ จนมีนายทหารอเมริกันมาเห็นและถามถึงเมนูข้าวผัดนั้น เธอจึงได้ตั้งชื่อว่า ข้าวผัดอเมริกัน (American Fried Rice)

#7 ทำไมเรียกพริกเกลือ ทั้งๆ ที่มีน้ำตาลเพียบ

ในสมัยก่อน เครื่องจิ้มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะมีแต่พริกกะเกลือเท่านั้น ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพราะการผลิตน้ำตาลทรายได้เกิดขึ้นมาภายหลัง และเมื่อน้ำตาลแพร่หลายมากขึ้น คนยุคใหม่ก็ติดน้ำตาล จึงมีการใส่น้ำตาลลงไปในพริกกะเกลือ เพื่อให้รสหวานเป็นตัวนำ แต่ก็ยังคงเรียกว่าพริกเกลือเหมือนเดิม

#8 ลอดช่องสิงคโปร์ แต่ไม่ใช่ของสิงคโปร์

ลอดช่องถือเป็นขนมไทยแท้มาแต่โบราณ ซึ่งมีความแตกต่างจากลอดช่องสิงคโปร์เล็กน้อยในเรื่องของวัตถุดิบและกรรมวิธีทำ แต่ถึงอย่างนั้นลอดช่องสิงคโปร์ ก็ไม่ได้มาจากสิงคโปร์แต่อย่างใด เพราะมันมาจากสถานที่ๆ ร้านขายลอดช่องตั้งอยู่ นั่นคือหน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราชนั่นเอง

#9 ไข่เยี่ยวม้า แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเยี่ยวม้า

บางที่ก็อ้างอิงไปถึงตำนานเรื่องเล่าของจีน เกี่ยวกับชาวนาที่พบไข่เป็ดถูกฝังอยู่ในแกลบและฟางที่ใช้กลบมูลม้านานหลายเดือนโดยไม่เน่าเสีย แถมยังมีรสชาติดีอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงชาวจีนก็ไม่ได้เรียกมันว่าไข่เยี่ยวม้า ส่วนคนไทยที่เรียกแบบนี้ อาจเพราะสีของไข่แดงเป็นสีขี้ม้า และมีกลิ่นของแอมโมเนียที่เหมือนฉี่ เพราเหตุนี้จึงเรียกไข่นี้ว่า ไข่เยี่ยวม้า