หากพูดถึงคำว่าสิ่งมหัศจรรย์คนส่วนใหญ่คงนึกถึง 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น แต่สิ่งเหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างขึ้นมานานแสนนาน ในบทความนี้ จิตรกรชื่อ ลอน มิวเลอร์ จะพาพวกเราเดินทางไปรับชมความอัศจรรย์ทางธรรมชาตินอกโลก และนี่คือ 4 เรื่องราวที่น่าสนใจของระบบสุริยะที่วาดขึ้นโดยใช้ข้อมูลจาก NASA ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลย
#1 วงแหวนของดาวเสาร์ (The Rings of Saturn)
จากรูปที่เห็นนี่คือบรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ของดาวเสาร์ ด้านบนคือภาพวงแหวนในมุมมองที่ชัดเจน จะมองเห็นโครงสร้างเป็นชั้นๆ ที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุดในระบบสุริยะ แสงสะท้อนสีขาวจากวงแหวนแท้จริงแล้วคือก้อนน้ำแข็งจำนวนนับไม่ถ้วนที่โคจรอยู่สูงจากศีรษะขึ้นไป 75,000 กิโลเมตร แสงสะท้อนนี้ถูกเรียกว่า Ringshine หากเปรียบเทียบแล้ว Ringshine มีความสว่างกว่าพระจันทร์เสี้ยวบนโลกถึง 6 ดวง
และหากก้มมองต่ำลงมาสิ่งที่เห็นคือดวงอาทิตย์ขึ้นที่ขอบฟ้าของดาวเสาร์ แสงอาทิตย์หักเหและสะท้อนกับหมอกและผลึกของแอมโมเนีย เกิดเป็นปรากฏการณ์ซันด๊อก (ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ซ้อนกัน 3 ดวง)
แม้สถานที่ตรงนี้จะมีปรากฎการณ์ที่สวยงามแต่ก็แฝงไปด้วยอันตราย หากคุณไปอยู่ตรงนั้น คุณจะได้รับอันตรายจากสายลมแอมโมเนียที่พัดกรรโชกด้วยความเร็ว 1,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไม่เพียงเท่านั้น ต่ำลงไปใต้เท้าของคุณประมาณ 30,000 กิโลเมตร คือมหาสมุทรของโลหะเหลวไฮโดรเจน ความดันของมหาสมุทรนี้สูงมากจนไม่มีสิ่งใดจะทนต่อความดันนี้ได้ จึงเป็นเหตุให้ไม่มีพาหนะใดที่ร่อนลงบนดาวดวงนี้ได้อย่างปลอดภัย
#2 จุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัส (Jupiter’s Red Spot)
นี้คือทิวทัศน์ที่ขอบของจุดแดงยักษ์ซึ่งเป็นพายุที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ กระแสลมของพายุเคลื่อนที่หมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา สวนทางกับการหมุนของพายุส่วนใหญ่บนโลก (จึงเรียกว่า แอนติไซโครน) เส้นผ่านศูนย์กลางของพายุมีขนาดใหญ่จนสามารถบรรจุโลกเข้าไปในพายุได้สองใบพอดี
มนุษย์เคยสังเกตเห็นพายุนี้มาเป็นเวลาประมาณ 400 ปี แล้ว นั้นหมายความว่าพายุนี้ต้องพัดมานานกว่า 400 ปี และไม่มีท่าทีว่าจะหยุด สาเหตุของการเกิดพายุที่ยิ่งใหญ่ รุนแรง และพัดติดต่อกันนาน ที่สุดนี้ยังคงเป็นปริศนา
การม้วนตัวของเมฆสีส้มทางด้านซ้ายคือเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของจุดแดงยักษ์ สภาพของขอบพายุสะท้อนถึงความอันตรายอย่างสุดขีด สายฟ้าผ่าในมวลเมฆนั้นใหญ่และรุ่นแรงเพียงพอที่จะขยี้เมืองทั้งเมืองได้
สายลมที่ขอบนอกของจุดแดงยักษ์มีความเร็วมากกว่า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหมุนครบรอบทุกๆ 7 วัน มีกระแสลมหมุนและพายุเล็กๆ รายล้อมจุดแดงยักษ์นี้ ทั้งหมดต่างประสานเสียงคำรามกึกก้องทั่วทั้งท้องฟ้า
#3 หุบเขามารินาริส บนดาวอังคาร (Valles Marineris, Mars)
ไม่ว่านักเดินทางหรือนักปีนเขาจะเก่งกล้าเพียงใดก็คงต้องออกอาการยอมแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อไปถึงหุบเขามารินเนอร์บนดาวอังคาร ในรูปนี้แสดงถึงนักสำรวจยืนอยู่บนหุบเขา จะเห็นมีหมอกของน้ำแข็งสีขาวอยู่จางๆ อยู่เบื่องล่าง แสงสีส้มที่ขอบฟ้าด้านหลังของหุบเขาแสดงถึงดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นมาจากหุบเขาฝั่งนั้น
หุบเขาแห่งนี้มีความลึกและความกว้างเป็นที่สุดของระบบสุริยะ หากคุณยืนอยู่บนหุบเขาแล้วมองลงไปคุณต้องรู้สึกใจหายในคว่ำทันที เพราะพื้นเบื่องล่างของหุบเขาอยู่ลึกจากเท้าลงไปประมาณ 6.44 กิโลเมตร และเมื่อคุณมองไปข้างหน้า คุณอาจต้องเครียด เพราะอีกฝั่งของหุบเขาอยู่ไกลออกไปถึง 1 ใน 4 ของระยะทางรอบโลก
ถึงขนาดที่หากมีนักเดินทางอีกคนยืนอยู่อีกฝากหนึ่งของมารินเนอร์ นักเดินทางคนนั้นจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนคุณถึง 6 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์สันนิฐานว่ากาลครั้งหนึ่งในอดีต คงจะเคยมีน้ำอยู่ระหว่างหุบเขานี้ หรือ อาจเป็นมหาสมุทรบนดาวอังคารเลยก็ว่าได้
#4 น้ำพุเกร็ดน้ำแข็งบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (The Geysers of Enceladus)
เอนเซลาดัสคือหนึ่งในดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ผิวของเอนเซลาดัสถือเป็นทุ่งน้ำแข็งที่อันตรายที่สุด หากคุณได้ลงไปเดินบนทุ่งน้ำแข็งแห่งนี้ สิ่งเดียวที่เป็นลางบอกภัยคือแรงสันสะเทือนที่ถ่ายทอดจากพื้นสู่ตัวคุณ ทันใดนั้นพื้นน้ำแข็งก็ปริแตกแล้วพ่นเกร็ดน้ำแข็งจำนวนมากขึ้นสู่อวกาศด้วยความเร็วสูงถึง 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเอนเซลาดัสมีขนาดเล็ก มีแรงโน้มถ่วงที่ผิวไม่เกิน 1 ใน 100 ของแรงดึงดูดโลก ดวงจันทร์นี้จึงไม่มีบรรยากาศ ทำให้ไม่มีเสียง อันตรายจากน้ำพุเกร็ดน้ำแข็งนี้จึงเป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง
รูปที่เห็นคือน้ำพุเกร็ดน้ำแข็งที่สะท้อนกับแสงจากดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน้ำพุเกร็ดน้ำแข็งคือหลักฐานบ่งชี้ว่ามีน้ำเหลวอยู่ใต้ดวงจันทร์เอนเซลาดัส เมื่อน้ำได้รับความร้อนใต้พิภพจะทำให้น้ำกลายเป็นไอแล้วพุ่งสู่เบื่องบนด้วยความเร็วสูง เมื่อไอน้ำเหล่านั้นได้รับความเย็นที่ผิวของเอนเซลาดัส จึงแข็งตัวกลายเป็นเกร็ดน้ำแข็ง จึงเกิดเป็นน้ำพุเกร็ดน้ำแข็งดังที่แสดงในรูป