อนาคตบน “ดวงจันทร์” ทำไมรัสเซีย อินเดีย และประเทศอื่นๆ ถึงมุ่งสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์

ครึ่งศตวรรษหลังจากที่มนุษย์คนแรกลงจอดบนดวงจันทร์ ตอนนี้ความสนใจของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อดวงจันทร์ก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ในคราวนี้ประเทศต่างๆ ต่างมุ่งเป้าไปที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ จึงมีคำถามว่าทำไม?

20 กรกฎาคม ปี 1969 “นีล อาร์มสตรอง” และยานอวกาศอะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ปัจจุบันกว่า 50 ปีหลังจากที่มนุษย์คนแรกลงจอดบนดวงจันทร์ ความสนใจก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งในการไปเยี่ยมเพื่อนบ้านของเรา ในครั้งนี้ รัสเซีย อินเดีย และประเทศอื่นๆ กำลังมุ่งไปสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งกลายเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการสำรวจอวกาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทำไมต้องเน้นไปที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์? นักวิทยาศาสตร์คิดว่าพื้นที่แถบขั้วใต้เป็นแหล่งสะสมของน้ำแช่แข็งจำนวนมาก เนื่องจากจากมีสภาพเป็นแอ่งและไม่ถูกแสงอาทิตย์เลย ซึ่งหากพวกเขาคิดถูกและสามารถขุดขึ้นมาใช้ได้ ก็จะสามารถสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ได้

อย่างไรก็ตาม Martin Barstow ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์อวกาศ จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า

“มันเป็นเรื่องของการคาดการณ์ ไม่มีใครรู้ว่ามีน้ำเพียงพอหรือไม่”

“และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมการไปดูจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

มุ่งสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์

ยานสำรวจดวงจันทร์ Luna 25 ของรัสเซียพยายามลงจอดใกล้ขั้วใต้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2023 แต่ล้มเหลวหลังการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

ต่อมา 23 ส.ค. 2023 อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่แตะใกล้ขั้วโลกใต้ด้วย Chandrayaan-3 จากนั้นอินเดียได้ใช้หุ่นยนต์และโรเวอร์สำรวจพื้นที่ ต่อมาได้ยืนยันว่ามีกำมะถัน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับค่ายพักแรมในอนาคต

ในปี 2026 จีนกำลังวางแผนที่จะส่งยานอวกาศ Chang’e-7 ออกไปสำรวจขั้วใต้บนดวงจันทร์ ตามแผนภารกิจ ยานอวกาศจะประกอบด้วยยานอวกาศ ยานลงจอด รถแลนด์โรเวอร์ และยานบินขนาดเล็กที่จะออกล่าน้ำแข็งในบริเวณที่มีร่มเงา

ปลายทศวรรษนี้ โครงการ Artemis ของ NASA ก็มีเป้าหมายที่จะนำลูกเรือลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เช่นกัน

บ้านบนดวงจันทร์?

สำหรับหลายประเทศที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่ เป้าหมายไม่ใช่แค่การไปเยือนขั้วใต้ของดวงจันทร์เท่านั้น แต่ยังเพื่อศึกษาและสร้างที่อยู่อย่างถาวรที่นั่นด้วย

แจ็ค เบิร์นส์ ผู้อำนวยการเครือข่ายการสำรวจและวิทยาศาสตร์อวกาศที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก NASA แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ กล่าวว่า

“ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตลอด 50 ปี ใครๆ ก็สามารถไปดวงจันทร์ได้”

ตัวอย่างเช่น โครงการ Artemis ของ NASA มีเป้าหมายที่จะสร้างห้องปฎิบัติการบนดวงจันทร์ เพื่อให้นักบินอวกาศได้อาศัยและทำงานครั้งละสองเดือน โดยพวกเขาจะฝึกฝนเทคโนโลยีโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อการช่วยชีวิตและการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับจรวด

“แนวคิดเรื่องการผลิตในอวกาศเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ยังไม่มีใครทำจริงๆ”

“และผมคิดว่านั่นคือจุดที่เรากำลังนั่งอยู่ในตอนนี้ เราทุกคนรู้ว่าเราต้องการทำอะไร เรายังคิดได้เลยว่าเราจะทำมันได้อย่างไร แต่เราต้องทำการทดสอบทางวิศวกรรมครั้งแรก และดูว่าเราทำได้จริงหรือไม่”

ท้ายที่สุดแล้ว การแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างนิคมบนดวงจันทร์อย่างยั่งยืน จะเป็นก้าวสำคัญในการไปยังดาวอังคารในอนาคตด้วย

เครดิต livescience.com