“หมีไฮบริด” ลูกผสมระหว่างหมี 2 สายพันธุ์ ทำให้มันแข็งแกร่งกว่าเดิมไปอีกขั้น

การข้ามผสมข้ามสายพันธุ์ในครั้งนี้ ทำให้มันแข็งแกร่งกว่าเดิมไปอีกขั้น

นี่คือ หมีโกรลาร์ (Grolar) ลูกผสมระหว่าง “หมีกริซลี่ย์” และ “หมีขั้วโลก” มันมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น หมีพิซลี่ย์ (Pizzly Bear) หรือหมีกริซลาร์ (Grizzlar)

(หมีกริซลี่ย์)

(หมีขั้วโลก)

การผสมข้ามสายพันธุ์ของหมีทั้งสองชนิดนี้

เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยเกิดจากความ “บังเอิญ” ของสวนสัตว์หลายๆ แห่งในยุโรปและอเมริกาที่เลี้ยงพวกมันไว้บริเวณเดียวกัน

เดิมทีเคยมีคนตั้งสมมติฐานว่า เหตุการณ์ผสมข้ามสายพันธุ์แบบนี้ คงไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแน่ เพราะพวกมันหากินกันคนละพื้นที่ (โอกาสเจอกันน้อยมาก) แถมยังมีนิสัยก้าวร้าวด้วยกันทั้งคู่ หากเจอกันคงฟัดกันเละเทะ

แต่แล้วในปี 2006 นายพรานชาวแคนาดา ได้บังเอิญไปพบ “หมีโกรลาร์” ในป่าธรรมชาติ ในตอนแรกเขาคิดว่ามันเป็นหมีขั้วโลก แต่เมื่อมองดูดีๆ แล้ว มันไม่เหมือนหมีขั้วโลก ใบหน้าของมันสั้นกว่า แถมมีแถบสีน้ำตาลแซมอยู่กับขนสีครีม หลังก็ค่อม และอุ้งมือที่ยาวกว่าด้วย

มันเป็นไปได้ยังไง?

การพบรักของหมีขั้วโลก และหมีกริซลี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความ “แปรปรวน” ของสภาพอากาศโลก ที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งละลาย หมีทั้ง 2 ชนิด จึงมีพื้นที่หาอาหารเชื่อมต่อกันในที่สุด

ลักษณะทั่วไป

“หมีโกรลาร์” (Grolar) จะอยู่ตรงกลาง ระหว่างหมีขั้วโลกและหมีกริซลี่ย์ คือร่างกายเล็กกว่าหมีขั้วโลกแต่ใหญ่กว่ากริซลี่ย์

หมีขั้วโลกมีหัวกะโหลกทรงยาว มีฟันกรามที่เล็กและบดเคี้ยวของแข็งได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ “หมีโกรลาร์”(Grolar) ที่เป็นลูกผสมของมัน กลับมีฟันกรามที่ใหญ่และแข็งแกร่งกว่าสามารถเลือกกินอาหารได้หลากหลายชนิด เหมือนกับหมีกริซลี

หมีสุดแกร่ง!!

โดยทั่วไปแล้วพวกสัตว์ไฮบริด มักจะมีลักษณะต่างๆ ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ในสภาพแวดล้อมดั่งเดิมของรุ่นพ่อแม่เท่าไหร่นัก แต่ไม่ใช่กับหมีโกรลาร์ (Grolar)

มันมีร่างกายที่ได้เปรียบต่อการหาอาหารในเขตอาร์กติกที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มันมีโอกาสอยู่รอด และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ยิ่งกว่าหมีขั้วโลก และหมีกริซลีเสียอีก