ในปี 2017 นักดาราศาสตร์ได้สังเกตเห็นวัตถุรูปทรงประหลาด คล้ายกับซิการ์ มีขนาดประมาณ 400 เมตร เดินทางเข้ามาในพื้นที่ระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก ถ่ายได้โดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ของมหาวิทยาลัยฮาวาย
ในตอนแรกนักดาราศาสตร์คาดว่าวัตถุนี้เป็นเพียงดาวเคราะห์น้อย หรือ ดาวหาง ที่มีต้นกำเนิดมาจากระบบดาวอื่น ซึ่งบังเอิญมีทิศทางการเคลื่อนที่หาเราเท่านั้น
นักดาราศาสตร์จึงตั้งชื่อวัตถุนี้ว่า “โอมูอามูอา” (Oumuamua) ที่แปลว่า ผู้ส่งสาส์นจากดินแดนห่างไกลที่เดินทางมาถึงเป็นคนแรก (ภาษาพื้นเมืองของฮาวาย)
แต่ทว่าเมื่อ “โอมูอามูอา” เข้าใกล้กับดวงอาทิตย์มันก็เริ่มชะลอตัวลง และเหมือนวัตถุนี้จะเลี้ยววนอ้อมดวงอาทิตย์ ก่อนที่จะเริ่มเร่งความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเร็ว 196,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (315,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และมีทิศทางการเคลื่อนที่ออกไปจากระบบสุริยะของเราในที่สุด
ซึ่งมันเป็นลักษณะที่แปลกมากๆ ทำให้นักดาราศาสตร์และสื่อมวลชนบางส่วน ตั้งข้อสงสัยว่า “โอมูอามูอา” เป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวหรือไม่!
ข้อมูลบางส่วนจากนักวิชาการ
“เอวี โลเอ็บ” อธิบายการเคลื่อนที่ของ “โอมูอามูอา” ว่าเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือมันเป็น “ยานอวกาศ” ที่พุ่งตรงมาจากดาวเวก้า (เวก้าเป็นดาวที่สว่างที่สุดในดาราจักรลีรา – Lyra Constellation) ซึ่งถ้าดูจากความเร็วแล้ว การเดินทางจากเวก้ามายังระบบสุริยะต้องใช้เวลาราวหกแสนปี เขาจึงคิดว่าเป็นไปได้ที่ “โอมูอามูอา” จะมาจากอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว
“โลเอ็บ” มองว่าข้อถกเถียงเรื่อง “โอมูอามูอา” ไม่ใช่แค่การเถียงกันว่า มันคืออะไรเท่านั้น แต่มันยังเป็นต้นแบบของการถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Process) ด้วย
เขาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เขากล้าออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เพราะมีหลายคนบอกเขาว่า วิถีของ “โอมูอามูอา” นั้นประหลาดจริงๆ แต่คนเหล่านั้นไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ เพราะเกรงกลัวคนจะหาว่าบ้า แต่ตัวเขาไม่กลัว
สุดท้ายนี้เรื่องของ “โอมูอามูอา” จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ข่าว UFO” แบบที่เราเคยเห็นกันทั่วไป แต่มันสะท้อนกลับมาสู่ประเด็นดั้งเดิมในสังคมมนุษย์ นั่นคือคำถามที่ว่า “สิ่งมีชีวิตต่างดาวมีจริงหรือไม่?”
เครดิต solarsystem.nasa.gov