ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลาโทรบของออสเตรเลีย เผยผลการวิเคราะห์ซากฟอสซิลกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีการขุดพบเมื่อปี 2018 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ว่า เป็นของเผ่าพันธุ์เครือญาติมนุษย์ “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” (Paranthropus Robustus) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 2 ล้านปี
(พาแรนโทรปัส โรบัสตัส)
การค้นพบนี้ช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับการแยกสายวิวัฒนาการ ในบรรดาเผ่าพันธุ์ย่อยของมนุษย์โบราณที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยฟอสซิลกะโหลกศีรษะชิ้นนี้ถือว่ามีสภาพสมบูรณ์ที่สุดและมีอายุเก่าแก่ที่สุด เท่าที่เคยมีการค้นพบมา
คาดว่า “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์โบราณที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับ “โฮโม อีเร็กตัส” (Homo Erectus) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ (“โฮโม อีเร็กตัส” เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์แรกที่สามารถยืนตรงและเดินด้วยสองขา)
(โฮโม อีเร็กตัส)
ทีมผู้วิจัยพบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” นับร้อยชิ้น ที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีดริโมเลน (Drimolen) ทางตอนเหนือของนครโยฮันเนสเบิร์กในแอฟริกาใต้ โดยพบอยู่ห่างจากจุดที่เคยพบกะโหลกศีรษะของ “โฮโม อีเร็กตัส” วัยเด็กเมื่อปี 2015 เพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น
เมื่อมีการนำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะดังกล่าวมาประกอบกันขึ้นใหม่ ทีมผู้วิจัยพบว่า “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” นั้นมีขนาดของสมองเล็กแต่มีฟันขบเคี้ยวขนาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจาก “โฮโม อีเร็กตัส” ที่มีสมองใหญ่แต่มีฟันซี่เล็กกว่า
ผลวิเคราะห์ทางสรีรวิทยาดังกล่าวชี้ว่า ฟันซี่ใหญ่ที่แข็งแกร่งของ “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” น่าจะเป็นผลมาจากวิวัฒนาการ เพื่อให้กินอาหารแข็งจำพวกเปลือกไม้หรือพืชมีหัวใต้ดินเป็นอาหารหลักได้
ในขณะที่ “โฮโม อีเร็กตัส” กลับมีวิวัฒนาการไปอีกทางหนึ่ง จนรู้จักกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ได้สูงกว่า เมื่อเทียบกับ “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” ซึ่งเป็นคู่แข่งขันในยุคเดียวกัน
(พาแรนโทรปัส โรบัสตัส)
ดร. แอนเจลีน ลีซ หนึ่งในสมาชิกของทีมวิจัยบอกว่า…
“มนุษย์โบราณสองสายพันธุ์นี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งแสดงถึงการทดลองของกระบวนการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ที่สร้างความแตกต่างหลากหลายขึ้นภายในเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคบรรพกาล”
“ในขณะที่สายวิวัฒนาการของเราได้เป็นผู้ชนะในที่สุด และเผ่าพันธุ์มนุษย์อื่นๆ ต้องสูญสิ้นไป แต่หลักฐานที่พบชี้ว่าเมื่อ 2 ล้านปีก่อนในแอฟริกาใต้ ประชากรของ “พาแรนโทรปัส โรบัสตัส” มีอยู่มากกว่า “โฮโม อีเร็กตัส”
(พาแรนโทรปัส โรบัสตัส)
เครดิต BBC