รู้จักปรากฏการณ์ “คอบร้า เอฟเฟกต์” วิธีแก้ปัญหา “ที่ยิ่งแก้ ก็ยิ่งแย่”

Cobra Effect (คอบร้า เอฟเฟกต์) เป็นชื่อที่เอาไว้ใช้เรียกเหตุการณ์ที่เมื่อพยายามจะแก้ปัญหา แต่กลับทำให้ปัญหายิ่งแย่เข้าไปยิ่งกว่าเก่า โดยปรากฏการณ์ Cobra Effect นี้ได้รับการพูดถึงครั้งแรกในหนังสือของ Horst Siebert นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่มีชื่อว่า Der Kobra-Effekt. Wie man Irrwege der Wirtschaftspolitik vermeidet

ซึ่งคำว่า Cobra Effect มีที่มาจากเรื่องราว “งูระบาดที่กรุงเดลี” ในสมัยที่อินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ที่มาที่ไปของ Cobra Effect

ย้อนกลับไปสมัยที่อินเดียยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ในตอนนั้นอังกฤษได้พบว่า อินเดียมีจำนวนงูเห่ามากจนเกินไป โดยเฉพาะในเมืองเดลี แน่นอนว่ามีงูเห่าเยอะขนาดนี้ ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการรุกรานของงูเห่าที่ทำให้เมืองทั้งเมืองต้องโกลาหล

รัฐบาลต้องแก้ปัญหา

รัฐบาลอังกฤษเกิดความกังวลถึงความปลอดภัยของประชาชน จึงได้ตัดสินใจออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ นั่นก็คือ การให้เงินรางวัลแก่คนที่ถลกหนังงูเห่าได้ “สำหรับงูเห่าทุกตัวที่จับตายมาได้ จะมีเงินตอบแทน”

ดังนั้นยิ่งล่างูเห่าได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เงินมากเท่านั้น โดยรัฐบาลคิดว่าการให้รางวัลแบบนี้จะทำให้สามารถแก้ปัญหางูเห่าได้

กระแสตอบรับดีเยี่ยม

แคมเปญนี้ได้รับกระแสตอบรับจากชาวอินเดียอย่างล้นหลาม ซากงูเห่าจำนวนมากถูกนำมาขึ้นเงินรางวัลกับรัฐบาลอังกฤษ จำนวนงูเห่าในกรุงเดลีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และเหล่านักล่าก็ได้เงินตอบแทนจากความเสี่ยงที่ไปล่างูมาส่งให้ทางการ

แต่ในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลกลับพบว่า ทั้งๆ ที่เดินตามถนนในเมืองไม่พบงูเห่าแล้ว แต่จำนวนงูเห่าที่นักล่านำมาส่งเพื่อรับค่าตอบแทนกลับไม่ลดเลยแม้แต่น้อย

มันเกิดอะไรขึ้น?

คำตอบก็คือ มีชาวอินเดียหัวใสหลายคนที่คิดว่า ในเมื่อพวกเขาล่างูเห่าได้หลายตัว พวกเขาก็จะได้เงินมากขึ้น แล้วทำไมพวกเขาไม่เพาะเลี้ยงงูเห่าให้ได้เป็นพันๆ ตัวไปเลย แล้วค่อยเอาซากงูเห่าไปขึ้นเงิน แบบนี้รวยกว่าเยอะ

หลายๆ คนจึงแอบเพาะพันธุ์งูเห่าในเคหสถานของตัวเอง (เรียกว่าทำฟาร์มเลี้ยงงูก็ว่าได้) เพื่อนำไปฆ่าแล้วแลกค่าตอบแทนจากรัฐบาล

เมื่อรัฐบาลรู้เรื่องเข้า

ก็ได้ยกเลิกนโยบายค่าตอบแทนดังกล่าวโดยทันที ส่งผลให้งูเห่าจำนวนมากที่ชาวอินเดียอุตส่าห์เพาะเลี้ยงกลายเป็นของไร้ค่าในพริบตา พวกเขาจึงนำงูเห่าไปปล่อยทิ้งในป่า

ประชากรงูเห่าในเดลีจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ กลายเป็นว่าจำนวนงูเห่าหลังจากนโยบายแก้ปัญหาออกมา มีมากกว่าก่อนที่พยายามจะแก้ปัญหานี้เสียอีก

ปัจจุบัน

อินเดียจึงกลายเป็นประเทศที่มีประชากรเสียชีวิตจากการถูกงูกัดมากที่สุดในโลก มากถึงปีละ 60,000 ราย

เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นที่มาของสำนวน Cobra Effect ที่หมายถึง การใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบผิดๆ ซึ่งไม่ทำให้ปัญหาถูกแก้ไข กลับกันมันยิ่งทำให้ปัญหา “เลวร้ายลงกว่าเดิม”