NASA ลงสำรวจเกาะเกิดใหม่ของโลก หลังมันผุดขึ้นมาจากมหาสมุทร

วันนี้เราจะพาไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะแห่งหนึ่ง ที่ไม่ใช่เกาะธรรมดาๆ เพราะมันคือเกาะที่เกิดขึ้นใหม่บนโลกใบนี้แถมมีอายุเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น โดยขณะนี้ทาง NASA ได้ส่งทีมลงไปสำรวจแล้ว และต้องพบกับระบบนิเวศสมบูรณ์อย่างน่าประหลาดใจ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปอ่านกันเลย

เมื่อช่วงต้นปี 2019 เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น เผยเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับเกาะเกิดใหม่ที่ชื่อว่า ฮังกา ตองกา (Hunga Tonga) โดยเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับประเทศตองกา

เกาะแห่งนี้ผุดขึ้นมาจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2014 ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับทีมนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติแล้วเกาะที่เกิดในลักษณะนี้ จะถูกกัดเซาะ และจมกลับหายไปในทะเลภายในเวลาไม่กี่เดือน

แต่เกาะฮังกา ตองกา สามารถอยู่รอดมาได้ถึง 4 ปี และเป็นเพียง 1 ใน 3 เกาะใหม่ของโลกในรอบ 150 ปีที่อยู่รอดมาได้ และเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA และสถาบันวิจัยทางทะเล (Sea Education Association) เพิ่งจะมีโอกาสได้ลงสำรวจที่เกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ต่อมาได้นำข้อมูลออกมาเปิดเผยผ่านทางบล็อกของ NASA เมื่อช่วงต้นปี 2019

เกาะแห่งนี้ยังไม่มีในแผนที่ แต่ดาวเทียมสามารถถ่ายภาพได้อย่างชัดเจนเรื่อยมา แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้ทราบรายละเอียดของมันได้

จึงทำให้ในที่สุดทีมนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจไปลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจทางธรณีวิทยา ทำแผนที่สามมิติ และเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ศึกษา

โดยการสำรวจในครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งตื่นเต้นและประหลาดใจในเวลาเดียวกัน ภายหลังจากได้เห็นว่า บนเกาะที่กำเนิดจากการปะทุของภูเขาไฟเช่นนี้ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีการเติบโตของพืช มีดอกไม้ และมีนกทะเลมาสร้างที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ยังมีลักษณะภูมิประเทศหลายอย่างที่น่าฉงน ด้าน แดน สเลย์แบ็ก นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของ NASA หนึ่งในทีมสำรวจ เผยว่า ที่หาดบนเกาะแห่งนี้ มีก้อนกรวดขนาดเท่าเมล็ดถั่ว แทนที่จะเป็นทราย

อีกทั้งยังมีดินโคลนสีสว่างที่มีความหนืดมาก ซึ่งพวกเขาเองก็ยังสงสัยอยู่เล็กน้อยว่ามันมาจากที่ใด เพราะมันไม่ใช่เถ้าถ่านจากภูเขาไฟ

จากการวิจัยของ NASA เมื่อปี 2016 พบว่า เกาะแห่งนี้อยู่รอดมาได้อย่างน่าแปลกใจ และคาดว่าอาจจะอยู่ต่อไปได้อีก 6-30 ปี

อย่างไรก็ดีภายหลังจากลงพื้นที่ไปสำรวจ ทางนักวิทยาศาสตร์เผยว่า เกาะแห่งนี้ถูกกัดเซาะไวกว่าในช่วงแรกที่พบ เนื่องจากฝนและคลื่นที่ซัดแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทางใต้

เครดิต blogs.nasa.gov