พบฟอสซิล “ตัวอ่อนไดโนเสาร์” อายุ 66 ล้านปี เผยความเชื่อมโยงกับสัตว์ในยุคปัจจุบัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในจีนประกาศข่าวการค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ในสภาพสมบูรณ์

โดยอยู่ในลักษณะเตรียมฟักออกจากไข่

ตัวอ่อนไดโนเสาร์นี้ถูกพบในเมืองก้านโจว ทางภาคใต้ของจีน และทีมนักวิจัยประเมินว่ามันมีอายุอย่างน้อย 66 ล้านปี โดยมีความยาวตั้งแต่หัวถึงหาง 27 ซม. และนอนอยู่ในไข่ยาว 17 ซม.

เชื่อกันว่ามันคือไดโนเสาร์เทโรพอดไร้ฟัน หรือ “โอวิแรปโทโรซอร์” (Oviraptorosaur)

“โอวิแรปโทโรซอร์” คือไดโนเสาร์มีขนที่เคยมีชีวิตอยู่ในเอเชีย และอเมริกาเหนือ ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย ระหว่าง 100 – 66 ล้านปีก่อน

ทีมนักวิจัยระบุว่า ไข่มีสภาพสมบูรณ์เพราะอาจถูกฝังอยู่ใต้โคลนที่ถล่มลงมา ช่วยให้รอดพ้นจากสัตว์กินซากต่างๆ มาได้

ดร.ฟิออน ไวซัม หม่า หนึ่งในทีมศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า มันคือ “ตัวอ่อนไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์ที่สุดที่มีการค้นพบในประวัติศาสตร์”

การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้ทีมวิจัยได้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างไดโนเสาร์กับสัตว์ปีกในยุคปัจจุบัน โดนฟอสซิลเผยให้เห็นว่า ตัวอ่อนอยู่ในท่า “ขดตัว” ซึ่งเหมือนกับพวกสัตว์ปีกก่อนที่จะฟักออกจากไข่

ศาสตราจารย์ สตีฟ บรูแซตต์ นักบรรพชีวินวิทยา หนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า นี่คือ “หนึ่งในฟอสซิลไดโนเสาร์ที่น่าตื่นตาที่สุด” ที่เขาเคยเห็น และตัวอ่อนอยู่ในสภาพใกล้จะฟักออกจากไข่

ทั้งนี้ฟอสซิลไข่ดังกล่าวถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว และถูกจัดเก็บเป็นเวลา 10 ปี ก่อนนักวิจัยจะให้ความสนใจกับไข่ฟองนี้ ตอนที่พิพิธภัณฑ์เริ่มงานก่อสร้างและจัดระเบียบฟอสซิลเก่าๆ โดยสงสัยว่าตัวอ่อนอยู่ข้างในหรือไม่

ส่วนหนึ่งของฟอสซิลไดโนเสาร์ยังเป็นหิน และนักวิจัยจะใช้เทคนิคการสแกนขั้นสูงเพื่อสร้างภาพโครงกระดูกทั้งตัวต่อไป

เครดิต BBC