4 ความเชื่อผิดๆ ที่ผู้คนมีต่อ “ไดโนเสาร์”

มนุษย์เรามีความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์มานานนับร้อยปีแล้ว นับตั้งแต่มีการบรรยายถึงสัตว์โลกดึกดำบรรพ์เหล่านี้ในตำราวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19

ทว่าจนถึงปัจจุบัน เหล่านักบรรพชีวินวิทยายังคงพยายามขจัดความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสัตว์ที่เคยครองโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน และภารกิจของพวกเขาต้องยากลำบากขึ้นไปอีก หลังจากการที่สัตว์เหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ภาคต่อที่โด่งดังเรื่อง จูราสสิค พาร์ค (Jurassic Park) ด้วย

#1 ไดโนเสาร์ล้มตายไปจนหมดจากอุกกาบาตชนโลก

เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน เหล่าไดโนเสาร์ต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ เมื่ออุกกาบาตยักษ์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 กม. ได้พุ่งชนโลก

แรงปะทะทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันจมอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตาน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก และนำไปสู่เหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีสัตว์โลกเพียง 75% ที่สูญพันธุ์ไป และไดโนเสาร์บางชนิดก็เป็นผู้รอดชีวิต นั่นก็คือไดโนเสาร์ที่มีขนาดเล็ก และไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนก ซึ่งนกเองก็คือสมาชิกสายตรงของไดโนเสาร์กลุ่มนี้

เมื่อพิจารณาในแง่ของจำนวนชนิดพันธุ์ของนกที่มีชีวิตอยู่ ก็จะพบว่าปัจจุบันมีชนิดพันธุ์ของไดโนเสาร์อยู่บนโลกมากกว่าเมื่อ 66 ล้านปีก่อนเสียอีก

#2 ยืนอยู่นิ่งๆ เพื่อให้รอดจากการมองเห็นของทีเร็กซ์

ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือ ทีเร็กซ์ ถือเป็นตัวละครเอกในหนังจูราสสิค พาร์ค ภาคแรกที่ออกฉายในปี 1993 และมันได้ถูกนำเสนอในฐานะไดโนเสาร์ดุร้ายที่คอยเล่นงานมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ทีเร็กซ์ถูกนำเสนอในหนังเรื่องนี้ คือสัตว์ที่สายตาไม่ดี และจะสามารถตรวจจับเหยื่อได้จากการเคลื่อนไหวเป็นหลัก

ในธรรมชาติ นี่คือลักษณะที่พบได้ในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่มันไม่ใช่กับทีเร็กซ์ จากผลงานการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อ 15 ปีก่อนบ่งชี้ว่า ทีเร็กซ์อาจมีสายตาดีที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด

ฉะนั้น “การยืนนิ่งๆ อยู่หน้าทีเร็กซ์คงจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่โง่เขลาที่สุด”

#3 ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่โง่

สำหรับประเด็นนี้ นักวิจัยอธิบายว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจว่า ไดโนเสาร์เคยมีความเป็นอยู่และพฤติกรรมอย่างไร

“ไม่ใช่ว่าไดโนเสาร์ทุกตัวจะฉลาด และไม่ใช่ว่าไดโนเสาร์ทุกตัวจะโง่”

“ไดโนเสาร์บางตัวค่อนข้างฉลาดทีเดียว โดยเฉพาะไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก”

“บางตัวอาจออกหากินในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสัตว์ที่ใหญ่กว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกมันก็จะต้องมีสมองใหญ่สำหรับประมวลข้อมูลที่เพิ่มขึ้น”

#4 ไดโนเสาร์เป็นพ่อแม่ที่แย่

เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่มนุษย์เชื่อว่า ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ดุร้ายที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง และไม่มีพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกน้อย ทว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 มีการค้นพบว่า พวกมันมีพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ได้ศึกษาเรื่องนี้ และพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 193 ล้านปีก่อน มีพฤติกรรมรวมกลุ่มเพื่อช่วยกันเลี้ยงลูกน้อย

ถึงแม้เราจะยืนยันไม่ได้ว่าไดโนเสาร์ทั้งหมดเป็นพ่อแม่ที่ดีที่ช่วยกันเลี้ยงลูก แต่เราก็คงจะบอกว่าไดโนเสาร์เป็นพ่อแม่ที่แย่ไม่ได้เช่นกัน

เครดิต BBC