15 ความจริงเกี่ยวกับโลก ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล มีอะไรหลายๆ อย่างที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และอย่าว่าแต่ในจักรวาลเลย แม้แต่บนโลกใบนี้ที่เปรียบได้กับธุลีเล็กๆ ของจักรวาล มนุษย์ก็ยังเรียนรู้อะไรได้ไม่หมดเช่นกัน สำหรับวันนี้เราจะไปทำความรู้จักโลกใบนี้ให้มากขึ้นกับ 15 ความจริงเกี่ยวกับโลก ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย

#1 โลก (Earth) มีเส้นรอบวงตามแนวนอน 40,075 กิโลเมตร และเส้นรอบวงตามแนวตั้ง 40,008 กิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะ

#2 ถึงแม้โลกจะดูมีขนาดที่ใหญ่โต แต่โลกมีขนาดพื้นผิวน้อยกว่าดวงอาทิตย์ถึง 12,000 เท่าเลยทีเดียว

#3 ถ้าเราไม่มีเงินไปเที่ยวรอบโลก (แต่อยากเดินทาง 40,075 กิโลเมตร) ให้คุณเดินทางจากเหนือสุดถึงใต้สุดของประเทศไทย 20 ครั้ง ก็จะเท่ากับเดินทางรอบโลก 1 รอบพอดีๆ

#4 ถ้าเอาโลกวางลงบนเครื่องชั่งน้ำหนัก (ที่เครื่องใหญ่พอ) ตัวเลขมวลของโลกที่จะแสดงออกมาก็คือ 5,973,600,000,000,000,000,000,000 กิโลกรัม หรือเขียนให้ง่ายขึ้นกว่าเดิมว่า 5.9736×1024 กิโลกรัม

#5 ใครที่บอกว่าโลกกลมคนนั้นผิด เพราะด้วยขนาดตามข้อแรก ทำให้โลกมีรูปทรงรีที่เกือบๆ จะเป็นทรงกลม แต่สมัยหนึ่งมนุษย์เคยถูกประหารชีวิต เพราะไม่ยอมเชื่อว่าโลกแบนคนที่เกือบจะเป็นหนึ่งในนั้นก็คือ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) แต่โชคดีที่เขาฉลาดพอจะแกล้งสาบานว่าเชื่อเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้

#6 ส่วนใครที่บอกว่าโลกเอียงคนนั้นพูดถูก เพราะแกนโลกเอียงทำมุมจากแนวดิ่ง (แนวตั้ง) ประมาณ 23.5 องศา ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกว่าโลกเป็นลูกชิ้นปิ้งที่ถูกไม้เสียบอยู่กลางลูก แล้วเราถือไม้ให้มันเอียงจากแนวดิ่งไป 23.5 องศา โลกก็จะเอียงตามด้วยมุมที่เท่ากัน

#7 โลกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 1,674.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่าความเร็วของเสียงเสียอีก (เสียงเดินทางด้วยความเร็ว 1,236 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แต่เพราะขนาดของโลกใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดตัวของเรา จึงทำให้เราไม่รู้สึกเลยว่าโลกกำลังหมุนอยู่

#8 ด้วยความเร็วในการหมุนรอบตัวเองขนาดนี้ ทำให้โลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบเท่ากับ 23 ชั่วโมง 56 นาที 4.09 วินาที แต่เพื่อไม่ให้วุ่นวายจึงต้องปัดเศษเป็น 24 ชั่วโมงเต็ม

#9 ไม่ใช่แค่หมุนรอบตัวเองเท่านั้น แต่โลกยังหมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วยพร้อมๆ กัน ที่ความเร็ว 107,218 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบเท่ากับ 365.24 วัน แต่ปัดเศษเหลือแค่ 365 วันเต็ม

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกๆ 4 ปี เดือนกุมภาพันธ์จะต้องมี 29 วัน ก็เพราะบวกเศษที่เหลืออีกปีละ 0.24 วัน รวมเข้าด้วยกันเป็นอีกหนึ่งวันนั่นเอง

#10 ทุกวันนี้โลกส่งแรงโน้มถ่วง 9.81 เมตรต่อวินาทีกำลังสองมาดึงดูดเราเอาไว้ ในขณะที่ดาวพลูโตมีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่านั้นถึง 15 เท่า หมายความว่า ถ้าอยู่บนโลกเรากระโดดได้สูง 1 เมตร เมื่อไปอยู่บนดาวพลูโตเราจะกระโดดได้สูงถึง 15 เมตร

#11 จากแรงโน้มถ่วงดังกล่าวของโลกทำให้เราต้องใช้จรวดที่มีความเร็วมากกว่า 40,269.60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้หลุดพ้นไปจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และพุ่งทะยานออกไปนอกโลกได้

#12 ถ้าผ่ากลางโลกออกเป็น 2 ซีกเหมือนผ่าแตงโม เราจะเห็นภายในโลกแบ่งเป็นชั้นใหญ่ๆ 3 ชั้น ชั้นบนสุดคือ เปลือกโลก (Crust) ที่เราอาศัยอยู่ มีความหนาประมาณ 30-50 กิโลเมตร

ลึกลงไปเป็นชั้นเนื้อโลก (Mantle) ซึ่งก็คือชั้นของหินหนืดที่พุ่งขึ้นมาเป็นลาวาบนพื้นโลกเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิด ชั้นนี้มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร มีอุณหภูมิประมาณ 800-4,300 องศาเซลเซียส

ชั้นในสุดของโลกคือ แกนโลก (Core) หนาประมาณ 3,300 กิโลเมตร มีอุณหภูมิประมาณ 4,300-6,400 องศาเซลเซียส ส่วนประกอบหลักของชั้นนี้คือธาตุเหล็ก รอบนอกจะเป็นเหล็กเหลว แต่ส่วนในสุดที่เป็นแก่นกลางของโลกมีความหนาแน่นมหาศาล จนทำให้เหล็กเหลวกลายเป็นเหล็กแข็ง

#13 และที่พูดกันว่าโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น แท้ที่จริงแล้วในชั้นบรรยากาศของโลกมี “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” อยู่เพียง 0.038% ส่วนก๊าซที่มีอยู่มากที่สุดก็คือ “ก๊าซไนโตรเจน” ซึ่งมีถึง 78.08% รองลงมาก็คือ “ก๊าซออกซิเจน” 20.95% และ “ก๊าซอาร์กอน” 0.93%

แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนแค่นี้ ก็สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และนำไปสู่ภาวะโลกร้อนอย่างทุกวันนี้ได้แล้ว

#14 โลกมีพื้นที่ผิว 510,072,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 71% (361,132,000 ตารางกิโลเมตร) ที่เหลืออีกประมาณ 29% (148,940,000 ตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นดิน

แต่ก็ใช่ว่าพื้นดินทั้งหมดมนุษย์จะสามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะพื้นดินประมาณ 13,720,000 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นทวีปแอนตาร์กติกา ที่มีอากาศหนาวจัดจนไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร มีแต่พวกนักวิจัยจอมอึดเพียงประมาณพันคนเท่านั้นที่ทนอยู่ได้

#15 ถ้าเมื่อไรที่โลกขาดแคลนน้ำจืด ทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) ตรงขั้วโลกใต้ สามารถช่วยเราได้ เพราะพื้นที่ 98% ของทวีปแอนตาร์กติกาปกคลุมไปด้วยแผ่นน้ำแข็งที่หนาเฉลี่ยถึง 1.6 กิโลเมตร น้ำแข็ง 90% ของโลกมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ซึ่งมันสามารถสร้างน้ำจืดให้เราได้ถึง 70% ของปริมาณน้ำจืดที่มีในโลก

แต่ข้อเสียอย่างเดียวก็คือ ถ้ามันละลายหมดน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 60 เมตร หรือสูงประมาณตึก 20 ชั้น เมื่อเวลานั้นโลกอาจถึงกาลอวสาน